การพัฒนารูปแบบการส่งเสริมการจัดการตนเองสำหรับผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว ณ คลินิกหัวใจล้มเหลว โรงพยาบาลสกลนคร

ผู้แต่ง

  • อุไรวรรณ ศรีดามา โรงพยาบาลสกลนคร
  • ทัศนีย์ แดขุนทด โรงพยาบาลสกลนคร
  • ศักดิ์ศิธร พูนชัย โรงพยาบาลสกลนคร

บทคัดย่อ

          การวิจัยและพัฒนานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการส่งเสริมการจัดการตนเองสำหรับผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว คลินิกหัวใจล้มเหลว โรงพยาบาลสกลนคร และศึกษาผลลัพธ์หลังการพัฒนารูปแบบการส่งเสริมการจัดการตนเองสำหรับผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว จำนวน 90 คน และพยาบาลวิชาชีพผู้ให้บริการผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว จำนวน 8 คน ดำเนินการวิจัย 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1) การวิเคราะห์สภาพปัญหาและความต้องการพัฒนารูปแบบ 2) การสังเคราะห์องค์ความรู้และออกแบบรูปแบบการส่งเสริมการจัดการตนเอง 3) การทดลองใช้รูปแบบ และ 4) การประเมินผลและเผยแพร่ เก็บข้อมูลเดือนเมษายน พ.ศ. 2559 – ธันวาคม พ.ศ. 2560 เครื่องมือวิจัย ได้แก่ โปรแกรมส่งเสริมการจัดการตนเอง แนวทางการจัดการตนเองสำหรับผู้ป่วยคู่มือการส่งเสริมการจัดการตนเอง แบบเก็บข้อมูล แบบสนทนากลุ่ม และแบบประเมินคุณภาพชีวิต วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และเปรียบเทียบผลลัพธ์ระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมโดยใช้สถิติ Mann–Whitney U test และ Chi–Square test     
         ผลการศึกษา พบว่า รูปแบบการส่งเสริมการจัดการตนเองของผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวประกอบด้วย 1) พยาบาลผู้เชี่ยวชาญทางคลินิกด้านภาวะหัวใจล้มเหลว หรือพยาบาลผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูงทำหน้าที่เป็นพยาบาลนำทางคลินิกรายกรณี ส่งเสริมการจัดการตนเองตามรูปแบบที่กำหนด ประสานงานทีมสหสาขาวิชาชีพร่วมดูแลผู้ป่วย และติดตามประเมินผลลัพธ์ 2) โปรแกรมการส่งเสริมการจัดการตนเอง ได้แก่ การประเมินภาวะสุขภาพของผู้ป่วย การให้ความรู้เกี่ยวกับโรคและการจัดการตนเอง การฝึกทักษะการจัดการตนเอง การสร้างแรงจูงใจและพลังอำนาจ และการสนับสนุนการจัดการตนเอง และ 3) การจัดการตนเองของผู้ป่วย 6 ขั้นตอน ประกอบด้วย การตั้งเป้าหมาย การเก็บรวบรวมข้อมูล การประมวลผล การลงมือปฏิบัติ การประเมินผล และการสะท้อนตนเอง ผลการใช้รูปแบบการส่งเสริมการจัดการตนเอง พบว่า ภายหลังได้รับการส่งเสริมการจัดการตนเองตามรูปแบบกลุ่มทดลองมีความสามารถในการทำหน้าที่ของร่างกายคุณภาพชีวิตจำนวนครั้งการนอนโรงพยาบาลแตกต่างกับกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) จึงควรส่งเสริมการนำรูปแบบการส่งเสริมการจัดการตนเองนี้ไปใช้ในคลินิกหัวใจล้มเหลว โรงพยาบาลเครือข่าย ร่วมกับการพัฒนาความเชี่ยวชาญของพยาบาลประจำ คลินิก
         คำสำคัญ: การจัดการตนเอง ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว พยาบาลนำทางคลินิก คลินิกหัวใจล้มเหลว

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2021-10-15