ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เขตรับผิดชอบของ โรงพยาบาลพังโคน จังหวัดสกลนคร

ผู้แต่ง

  • ไกรพิชิต ปรุงฆ้อง โรงพยาบาลพังโคน จังหวัดสกลนคร

บทคัดย่อ

           การศึกษาเชิงพรรณนามีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลพังโคน จังหวัดสกลนคร เก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่2 จำนวน 385 คน ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบง่ายโดยการจับฉลากใช้แบบสอบถามซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ ข้อมูลทั่วไป ความรู้เรื่องโรคเบาหวาน การรับรู้โอกาสเสี่ยงและความรุนแรงของโรคเบาหวานและพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยวิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปด้วยสถิติเชิงพรรณนาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ด้วยการทดสอบไคสแควร์ และการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณ กำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05

          ผลการศึกษาด้วยการทดสอบไคสแควร์ พบว่า อายุ สถานภาพสมรส ระยะเวลาในการป่วยเป็นเบาหวานและระดับน้ำตาลในเลือด มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.041, 0.025, 0.026 และ 0.015 ตามลำดับ) เมื่อวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณพบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 คือ อายุ อาชีพ ระดับน้ำตาลในเลือดและความรู้เรื่องโรคเบาหวาน (R = 0.569, R2 = 0.327, F = 14.98, p < 0.05) โดยปัจจัยที่มีผลมากที่สุดคือ อายุ (Beta = –2.05) รองลงมาคือ อาชีพ (Beta = 0.354) ความรู้เรื่องโรคเบาหวาน (Beta = 0.181) และ ระดับน้ำตาลในเลือด (Beta = 0.140) ตามลำดับ ผลการศึกษาครั้งนี้สามารถนำมาเป็นแนวทางสำหรับการดูแลผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 โดยการดูแลผู้ป่วยจะต้องคำนึงถึงลักษณะส่วนบุคคลของผู้ป่วยโดยเฉพาะ อายุ การประกอบอาชีพการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน เพื่อให้สามารถให้คำแนะนำได้สอดคล้องกับผู้ป่วยแต่ละราย ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีจากการมีพฤติกรรมในการดูแลตัวเองได้ถูกต้องและเหมาะสม
            คำสำคัญ: พฤติกรรมการดูแลตนเอง ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการดูแลตนเอง โรคเบาหวานชนิดที่ 2

ประวัติผู้แต่ง

ไกรพิชิต ปรุงฆ้อง, โรงพยาบาลพังโคน จังหวัดสกลนคร

นายแพทย์ปฏิบัติการ โรงพยาบาลพังโคน จังหวัดสกลนคร

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2021-10-26