การแปลผลการตรวจก๊าซในเลือดแดงอย่างง่าย
บทคัดย่อ
ความผิดปกติของสมดุลกรด–ด่างในร่างกายอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและในบางครั้งความผิด ปกติอาจรุนแรงจนกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่คุกคามถึงชีวิต การวิเคราะห์และติดตามค่าก๊าซในเลือดแดงจึงมีความสำคัญในการวินิจฉัยอาการและการบริหารออกซิเจนให้แก่ผู้ป่วย ความเข้าใจเกี่ยวกับสมดุลของกรด–ด่างอย่างถ่องแท้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทีมสุขภาพ เพื่อให้สามารถประเมินผู้ป่วยได้อย่างครอบคลุมและให้การช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว ลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่จะเกิดตามมา แต่เนื่องจากความเข้าใจเกี่ยวกับก๊าซในเลือดแดงและการแปลผลบางครั้งอาจเกิดความสับสนและเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก มีวิธีในการแปลผลที่หลากหลาย ดังนั้น บทความนี้จึงนำเสนอวิธีการอ่านอย่างเป็นระบบทีละขั้นตอน เพื่อช่วยให้อ่านผลก๊าซในเลือดแดงได้ง่ายมากขึ้น ประกอบด้วย 7 ขั้นตอน คือ 1) ประมินออกซิเจน 2) ประเมินความเป็นกรดหรือด่าง (pH) 3) ประเมินแรงดันย่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดแดง (PaCO2) 4) ประเมินความเข้มข้นของไบคาร์บอเนตไอออน (HCO3–) 5) ระบุที่มาของความผิดปกติของสมดุกรด–ด่าง 6) พิจารณากลไกการปรับชดเชยและ 7) สรุปการแปลผลตรวจก๊าซในเลือดแดงการประยุกต์ใช้แนวคิดเรื่องความสมดุลกรด–ด่างในการดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมจะช่วยให้การดูแลสุขภาพผู้ป่วยไม่ใช่เพียงเพื่อการติดตามอาการของผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังสามารถประเมินประสิทธิผลของการดูแลผู้ป่วยได้อีกด้วย
คำสำคัญ: ก๊าซในเลือดแดง การแปลผลตรวจก๊าซในเลือดแดง สมดุลกรด–ด่าง