การพัฒนารูปแบบความรอบรู้ด้านสุขภาพของนักเรียนที่มีภาวะน้ำหนักเกิน โดยใช้กิจกรรมปัญญาประดิษฐ์และเครือข่ายสังคม ในจังหวัดตรัง
บทคัดย่อ
การศึกษานี้เป็นการวิจัยและพัฒนา มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบความรอบรู้ด้านสุขภาพของนักเรียน ที่มีภาวะน้ำหนักเกินโดยใช้กิจกรรมปัญญาประดิษฐ์และเครือข่ายสังคม ศึกษาระหว่างเดือนกรกฏาคม พ.ศ 2563ถึงมีนาคม พ.ศ 2564 กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 2 ในจังหวัดตรัง ที่ดัชนีมวลกายอยู่ในช่วง 23.01–29.99 กิโลกรัม/(เมตร)2 จำนวน 180 คน สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีจับสลากอย่างง่าย ดำเนินการวิจัย 3 ระยะดังนี้ ระยะที่ 1 ศึกษาสภาพปัญหา ความต้องการ ระยะที่ 2 ร่างรูปแบบชื่อว่า 3STAFF และทดลองใช้ เครื่องมือประกอบด้วยรูปแบบและแบบสอบถามความรอบรู้ด้านสุขภาพที่ใช้ในระยะที่ 3 ระยะประเมินรูปแบบ เครื่องมือแบบสอบถามความรอบรู้ด้านสุขภาพมีค่าดัชนีความสอดคล้องในช่วง 0.79–1.00 ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.82 และแบบประเมินความพึงพอใจรูปแบบมีค่าดัชนีความสอดคล้องในช่วง 0.96–1.00 วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยสถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าเฉลี่ยร้อยละและการทดสอบค่าที กำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยวิธีวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า รูปแบบที่พัฒนาขึ้นประกอบด้วย “3STAFF” ได้แก่ การจัดการตนเอง (Self–management) การให้รางวัล (Salary) เครือข่ายสังคม (Social Network) เทคโนโลยี (Technology: weight loss application) กิจกรรมกระตุ้นการตื่นตัว (Activity) เพื่อน (Friends) และการติดตาม (Follow up) คะแนนเฉลี่ยความรอบรู้ด้านสุขภาพของกลุ่มทดลองหลังการใช้รูปแบบสูงกว่าก่อนการใช้รูปแบบใน 5 ด้านจาก 6 ด้านอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 ผลการประเมินความพึงพอใจต่อรูปแบบของกลุ่มทดลองโดยภาพรวมอยู่ในระดับพอใจมาก (X ̅ = 3.649, S.D. = 0.607)
โดยสรุป การลดน้ำหนักของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นควรมีการใช้กิจกรรมปัญญาประดิษฐ์และเครือข่ายสังคมเพื่อพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพ นำไปสู่การลดน้ำหนักที่มีประสิทธิภาพและต่อเนื่องต่อไป
คำสำคัญ: ความรอบรู้ด้านสุขภาพ นักเรียนภาวะน้ำหนักเกิน กิจกรรมปัญญาประดิษฐ์ เครือข่ายสังคม