การประเมินระดับความร้อนและผลกระทบต่อสุขภาพจากการสัมผัสความร้อน ของผู้ประกอบอาชีพในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

ผู้แต่ง

  • มงคล รัชชะ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  • จักรกฤษ เสลา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  • อนุ สุราช คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

บทคัดย่อ

           ในช่วงฤดูร้อน สภาพอากาศบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยมีอุณหภูมิสูงมากกว่าฤดูอื่น การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินระดับความร้อน ภาระงาน ผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อน และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อนของผู้ประกอบอาชีพบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จำนวน 355 คนเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ เครื่องตรวจวัดความร้อน รุ่น QUESTEMP 32 และแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา และหาความสัมพันธ์ด้วยสถิติไคสแควร์

           ผลการศึกษาพบว่า อุณหภูมิเวตบัลบ์โกลบบริเวณพื้นที่การทำงานภายในอาคารอยู่ในช่วง 32.7–34.0 องศาเซลเซียส กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 78.9 มีภาระงานงานเบา และร้อยละ 21.1 มีภาระงานปานกลาง ซึ่งทำงานในพื้นที่ที่ระดับความร้อนสูงกว่ากฎหมายกำหนด (> 32.0 องศาสเซลเซียส) ผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อนพบว่า กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 34.4 มีอาการอย่างน้อย 1 อาการขึ้นไป อาการที่พบจากมากไปน้อย คือ อ่อนเพลียเนื่องจากความร้อน (ร้อยละ 25.1) ผดจากความร้อน (ร้อยละ 16.1) โรคลมร้อน (ร้อยละ 9.0) และตะคริวเนื่องจากความร้อน (ร้อยละ 2.5) โดยไม่พบอาการโรคลมแดด ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ได้แก่ อายุมากกว่า 40 ปี ดัชนีมวลกายไม่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน มีโรคประจำตัว ทำงานเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน ระดับความร้อนในที่ทำงานเมื่อเทียบกับภาระงานสูงกว่ามาตรฐานกำหนดและดื่มน้ำเปล่าน้อยกว่า 10 แก้วต่อวัน โดยมีโอกาสได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อนอย่างน้อย 1 อาการขึ้นไปเพิ่มขึ้น 2.2, 1.6, 2.3, 3.1, 5.0 และ 3.4 เท่า ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่า ระดับความร้อนบริเวณพื้นที่ทำงานภายในอาคารช่วงฤดูร้อนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ประกอบอาชีพ

            คำสำคัญ: อุณหภูมิเวตบัลบ์โกลบ ภาระงาน ผลกระทบต่อสุขภาพ ผู้ประกอบอาชีพ

ประวัติผู้แต่ง

มงคล รัชชะ, คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

จักรกฤษ เสลา , คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

อนุ สุราช , คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2021-11-08