ผลของการใช้สื่อสมุดเล่มเล็กทันตสุขภาพ For ฟันและการใช้แอปพลิเคชัน For ฟัน ต่อความรู้และพฤติกรรมของผู้ปกครองในการดูแลสุขภาพช่องปากและฟันเด็กปฐมวัย
บทคัดย่อ
การวิจัยกึ่งทดลองเพื่อเปรียบเทียบคะแนนความรู้และพฤติกรรมของผู้ปกครองในการดูแลสุขภาพช่องปากและฟันเด็กปฐมวัยระหว่างกลุ่มผู้ปกครองที่ได้รับการส่งเสริมความรู้และพฤติกรรมผ่านสื่อสมุดเล่มเล็กทันตสุขภาพFor ฟัน กับกลุ่มที่ได้รับการส่งเสริมความรู้และพฤติกรรมผ่านแอปพลิเคชัน For ฟัน กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ปกครองของเด็กปฐมวัยอายุ 3–5 ปี กลุ่มละ 15 ราย รวม 30 ราย ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครพนม และโรงเรียนอนุบาลนิลวรรณ จังหวัดนครพนม เครื่องมือรวบรวมข้อมูล คือ แบบประเมินความรูและพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากและฟันในเด็กปฐมวัยโดยผู้ปกครองเปรียบเทียบคะแนนความรู้และพฤติกรรมระหว่างกลุ่มด้วยสถิติ independent t–test กำหนดนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05
ผลการวิจัยพบว่า หลังการทดลอง 1) ค่าเฉลี่ยคะแนนความรู้ในกลุ่มที่ใช้สื่อสมุดเล่มเล็กทันตสุขภาพ For ฟัน (X ̅ = 12.46, S.D. = 1.12) และกลุ่มทดลองที่ใช้แอปพลิเคชัน For ฟัน
(X ̅ = 12.86, S.D. = 1.35) เพิ่มขึ้นอยู่ในระดับสูง ซึ่งจากการทดสอบสมมติฐานด้วย t–test พบว่า ทั้งสองกลุ่มมีค่าเฉลี่ยคะแนนความรู้ไม่แตกต่างกัน 2) ค่าเฉลี่ยคะแนนพฤติกรรมในกลุ่มที่ใช้สื่อสมุดเล่มเล็กทันตสุขภาพ For ฟัน (X ̅ = 19.46, S.D. = 3.96)เพิ่มขึ้นในระดับปานกลาง ส่วนกลุ่มที่ใช้แอปพลิเคชัน For ฟัน (X ̅ = 26.26, S.D. = 5.07 ) เพิ่มขึ้นในระดับสูงซึ่งแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 ดังนั้น การใช้สื่อสมุดเล่มเล็กทันตสุขภาพ For ฟัน และการใช้แอปพลิเคชัน For ฟัน ช่วยส่งเสริมความรู้ผู้ปกครองให้เพิ่มขึ้นในระดับเดียวกัน แต่ด้านพฤติกรรม การใช้แอปพลิเคชัน For ฟันสามารถส่งเสริมพฤติกรรมของผู้ปกครองได้ดีกว่าการใช้สื่อสมุดเล่มเล็กทันตสุขภาพ For ฟัน
คำสำคัญ: การป้องกันฟันผุในเด็กปฐมวัย ความรู้และพฤติกรรมในการดูแลช่องปากและฟัน ผู้ปกครอง