การศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน ในผู้ป่วยที่ใช้ยาโคลิสติน ในโรงพยาบาลหนองคาย

ผู้แต่ง

  • วุฒิศักดิ์ อารีย์วัฒนานนท์ โรงพยาบาลหนองคาย

บทคัดย่อ

         ปัจจุบันการใช้ยาต้านจุลชีพโคลิสติน (colistin) ได้มีการนำกลับมาใช้มากขึ้น เนื่องจากปัญหาของเชื้อแบคทีเรียกรัมลบดื้อยาต้านจุลชีพที่สาคัญในประเทศไทย ได้แก่ Acinetobacter baumannii และ Pseudomonas aeruginosa ซึ่งดื้อต่อยาต้านจุลชีพหลายขนานเพิ่มขึ้น แต่อาการไม่พึงประสงค์ที่สำคัญของยาโคลิสตินคือ การเกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน ผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันในผู้ป่วยที่ใช้ยาโคลิสติน วิธีการวิจัยเป็นการศึกษาย้อนหลังโดยการสังเกต กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน โรงพยาบาลหนองคาย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2562 ถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563 จำนวน 211 ราย ทำการเก็บข้อมูลจากเวชระเบียนของผู้ป่วยอายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไปที่ได้รับยาโคลิสติน และมีผลการตรวจระดับครีเอตินินในเลือดก่อนและหลังการให้ยโคลิสติน อย่างน้อย 1 ครั้ง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ความถี่ ร้อยละ chi–square test และสถิติ multiple logistic regression

           ผลการศึกษาพบว่า เมื่อประเมินการเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันโดยใช้เกณฑ์ Acute Kidney Injury Network (AKIN) อุบัติการณ์ผู้ป่วยเกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน จำนวน 75 ราย คิดเป็นร้อยละ 35.5 และพบว่า ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันในผู้ป่วยที่ใช้ยาโคลิสตินอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ อายุผู้ป่วยมากกว่า 60 ปี (p = 0.005) การมีภาวะไขมันผิดปกติเป็นโรคประจำตัว (p = 0.019) และการได้ขนาดยา maintenance dose มากกว่าหรือเท่ากับ 5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน (p = 0.041)

            คำสำคัญ: โคลิสติน ภาวะไตวายเฉียบพลัน

ประวัติผู้แต่ง

วุฒิศักดิ์ อารีย์วัฒนานนท์ , โรงพยาบาลหนองคาย

อายุรแพทย์ทั่วไป กลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลหนองคาย

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2022-02-17