ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมป้องกันตนเองจากการติดเชื้อไวรัสโควิด–19 ของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้เป็นการศึกษาวิจัยเชิงหาความสัมพันธ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมป้องกันตนเองจากการติดเชื้อไวรัสโควิด–19 ของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 และศึกษาปัจจัยส่วนบุคคลและปัจจัยด้านการรับรู้ที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อไวรัสโควิด–19 กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มารับการรักษาในหน่วยบริการของโรงพยาบาลมหาสารคาม อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคามจำนวน 160 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล 2) แบบสอบถามการรับรู้สุขภาพ และ 3) แบบสอบถามพฤติกรรมป้องกันตนเองจากการติดเชื้อไวรัสโควิด–19 เก็บข้อมูลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปและพฤติกรรมการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อไวรัสโควิด–19 ด้วยสถิติเชิงพรรณนา และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคลและปัจจัยด้านการรับรู้ กับพฤติกรรมป้องกันตนเองจากการติดเชื้อไวรัสโควิด–19 โดยการทดสอบไคสแควร์ และการวิเคราะห์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน กำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05
ผลการวิจัย พบว่า 1) กลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรมโดยรวมในการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อไวรัสโควิด–19 อยู่ในระดับสูง (x ̅ = 2.54, S.D. = 0.20) และ 2) ปัจจัยส่วนบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อไวรัสโควิด–19 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ เพศ (p = 0.016) และอายุ (p = 0.025) ส่วนปัจจัยด้านการรับรู้ทุกด้าน ไม่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อไวรัสโควิด–19
คำสำคัญ: ไวรัสโควิด–19 พฤติกรรมป้องกันตนเอง ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2