การพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินที่มารับบริการ ที่ห้องอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ในสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 โรงพยาบาลกุมภวาปี

ผู้แต่ง

  • ปรานต์พนิตา นาสูงชน โรงพยาบาลกุมภวาปี

บทคัดย่อ

           การวิจัยและพัฒนานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและศึกษาผลของแนวปฏิบัติการพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินมารับบริการที่ห้องอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลกุมภวาปี ในสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด–19 ระหว่างเดือนธันวาคม 2564 – มีนาคม 2565 กลุ่มตัวอย่างได้แก่ พยาบาลวิชาชีพ และเจ้าพนักงานเวชกิจฉุกเฉิน จำนวน 24 คน ปฏิบัติงานที่ห้องอุบัติเหตุและฉุกเฉิน และผู้ป่วยจำนวน 248 ราย โดยเก็บข้อมูลทุติยภูมิจากเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ คัดเลือกโดยการสุ่มอย่างเป็นระบบ เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แนวปฏิบัติการพยาบาลในผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินแบบสอบถามบุคลากร และแบบบันทึกผลลัพธ์ในผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉิน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน one samples t–test Wilcoxon match–paired test และ binary logistic regression ด้วย ค่า adjusted odds ratios (ORadj) กำหนดระดับนัยสำคัญที่ 0.05

          ผลการวิจัยพบว่า ทักษะการพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินในสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด–19เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.001) ได้แก่ ค่าเฉลี่ยคะแนนความรู้ (จาก 14.53 เป็น 19.33, S.D. = 1.11) พฤติกรรมการพยาบาลดีขึ้นมากที่สุดด้านสถานที่ Resuscitation (จาก 1.56 เป็น 4.76, S.D. = 0.45) รองลงมา คือการทำความสะอาดอุปกรณ์และห้องความดันลบ (จาก 1.88 เป็น 4.55, S.D. = 0.32) และการเตรียมบุคลากร (จาก 1.79 เป็น 4.45, S.D. = 1.02) ตามลำดับ ผลการสังเกตการปฏิบัติตามแนวปฏิบัติการพยาบาล พบว่า ปฏิบัติถูกต้องร้อยละ 91.2 มีความพึงพอใจการนำแนวปฏิบัติการพยาบาลไปใช้ในระดับมากที่สุดคือ สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง (x ̅ = 4.67, S.D. = 0.49) นำไปใช้ร่วมกับสหสาขาวิชาชีพได้ (x ̅ = 4.67, S.D. = 0.62) และช่วยตัดสินใจ เลือกการปฏิบัติได้ง่ายขึ้น (x ̅ = 4.60, S.D. = 0.51) ผลลัพธ์ด้านผู้ป่วยพบว่า หลังการใช้แนวปฏิบัติการพยาบาล ผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉิน ปัจจัยที่มีผลต่อ Return of spontaneous circulation (ROSC) in 30 minutes อย่างมีนัย สำคัญทางสถิติ (p < 0.05) ได้แก่ ใส่ท่อทางเดินหายใจใน 10 นาที (ORadj =3.049) อัตราการเต้นของชีพจร (ORadj = 0.318) ค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด (ORadj = 0.309) ความดันโลหิตซิสโตลิก (ORadj = 0.134) และอุณหภูมิกาย (ORadj = 0.116)

            คำสำคัญ: การพัฒนา แนวปฏิบัติการพยาบาล ผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉิน สถานการณ์ COVID–19

ประวัติผู้แต่ง

ปรานต์พนิตา นาสูงชน, โรงพยาบาลกุมภวาปี

พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มงานการพยาบาลผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลกุมภวาปี

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2022-10-04