ผลของโปรแกรมการกระตุ้นพัฒนาการเด็กวัยก่อนเรียนด้านการเคลื่อนไหว โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านนาขาม ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
บทคัดย่อ
การวิจัยแบบกึ่งทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการกระตุ้นพัฒนาการเด็กวัยก่อนเรียนด้าน การเคลื่อนไหวในศูนย์พัฒนาเด็กวัยก่อนเรียน ในเขตโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านนาขาม กลุ่มตัวอย่าง คือ เด็กอายุ 30 ถึง 42 เดือน จำนวน 28 คน ที่มารับบริการที่ศูนย์พัฒนาเด็กวัยก่อนเรียนบ้านนาขามและบ้านพะเนาว์ คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง เครื่องมือวิจัยประกอบด้วยโปรแกรมการกระตุ้นพัฒนาเด็กวัยก่อนเรียนด้านการ เคลื่อนไหวจำนวน 5 โปรแกรม คือ 1) กบน้อยกระโดดเข้ารู 2) กบน้อยกระโดดเข้ารูและหนูต้องแยกขา 1 ครั้ง 3) ขว้างลูกบอลลงตะกร้า 4) กบน้อยกระโดดเข้ารูหนูต้องแยกขา 2 ครั้งและวิ่งซิกแซก และ 5) กบยืนขาเดียว มีค่า ความเชื่อมั่นสัมประสิทธิ์แอลฟาครอนบาคเท่ากับ 0.83 ดำเนินการทดลองแบบกลุ่มเดียววัดก่อนและหลังการทดลอง ระยะเวลาทดลอง 5 สัปดาห์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบน มาตรฐาน เปรียบเทียบพัฒนาการเด็กวัยก่อนเรียนก่อนและหลังได้รับการกระตุ้นพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวโดยใช้ สถิติ paired sample t–test
ผลการวิจัยพบว่า เด็กวัยก่อนเรียนที่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาการด้วยโปรแกรมการกระตุ้นพัฒนาการด้านการ เคลื่อนไหวมีคะแนนเฉลี่ยพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวเท่ากับ 2.11 (S.D. = 1.94) ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทาง สถิติ (t = 10.50, p < 0.05) เมื่อเทียบกับคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 1.14 (S.D. = 0.86) ก่อนได้รับการกระตุ้น
ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องในการดูแลเด็กวัยก่อนเรียนสามารถนำโปรแกรมไปใช้จัดกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการเด็กทั้งใน ศูนย์ฯ และในบ้านอย่างต่อเนื่อง
คำสำคัญ: เด็กวัยก่อนเรียน การกระตุ้นพัฒนาการ การเคลื่อนไหว