ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการดูแลสุขภาพแม่และเด็กของกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดนครพนม
บทคัดย่อ
การวิจัยเชิงคุณภาพมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสบการณ์ของหมอตำแยในการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการดูแลสุขภาพแม่และเด็กของกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดนครพนม ผู้ให้ข้อมูลหลักเป็นหมอตำแยจำนวน 15 คน เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้างครอบคลุมประเด็นการสืบทอดองค์ความรู้ เป้าหมายการดูแล ปัจจัยพื้นฐานที่กำหนดแนวปฏิบัติในการดูแล และรูปแบบการดูแลตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์ถึงระยะหลังคลอด ตรวจสอบคุณภาพโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและด้านการพยาบาลแม่และเด็กจำนวน 3 ท่าน มีค่าดัชนีความสอดคล้องเท่ากับ 1.00เก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 ถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 วิเคราะห์ข้อมูลส่วนบุคคลด้วยสถิติความถี่ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหาตามวิธีการของโคไลซ์ซี่ (Colaizzi) 7 ขั้นตอน
ข้อค้นพบสรุปได้ 4 ประเด็นได้แก่ 1) การสืบทอดองค์ความรู้ เป็นการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษและ ประสบการณ์ตรงของหมอตำแย ไม่มีตำรา 2) เป้าหมายการดูแลสุขภาพเพื่อความปลอดภัยของแม่และเด็ก ป้องกันความพิการและการเสียชีวิตของเด็ก 3) ความเชื่อเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการกำหนดแนวทางการดูแลสุขภาพได้แก่ ขวัญเป็นศูนย์กลางของชีวิต อาหารสำคัญต่อสุขภาพ คาถาศักดิ์สิทธิ์ป้องกันสิ่งเลวร้าย การอยู่ไฟทำให้สุขภาพดี และรกเป็นความสัมพันธ์ในสายเลือด และ 4) รูปแบบการดูแลสุขภาพเป็นแบบองค์รวมครอบคลุมด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ
ข้อค้นพบสามารถเป็นข้อมูลสำหรับหน่วยงานด้านสุขภาพนำไปประยุกต์ใช้ร่วมกับคำแนะนำการปฏิบัติตัวหลังคลอดเกี่ยวกับการอยู่ไฟอย่างปลอดภัยและอาหารที่เหมาะสมสำหรับหญิงหลังคลอด และหน่วยงานด้านการศึกษานำไปบูรณาการในเนื้อหาคำแนะนำการปฏิบัติตัวหลังคลอดด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นได้
คำสำคัญ: ภูมิปัญญาท้องถิ่น การดูแลสุขภาพแม่และเด็ก กลุ่มชาติพันธุ์