การกำกับตนเพื่อลดดัชนีมวลกายของนักเรียนอายุ 13–18 ปี ในเขตพื้นที่อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร
บทคัดย่อ
โรคอ้วนในวัยรุ่นเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในวัยผู้ใหญ่โดยเฉพาะโรคหัวใจและหลอดเลือด การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาการกำกับตนและหาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการกำกับตนในการลดดัชนีมวลกายของนักเรียนอายุ 13–18 ปี กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนที่มีดัชนีมวลกายเกินหรืออ้วน จำนวน 85 คน สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีคัดเลือกแบบเจาะจงจาก 3 โรงเรียนมัธยมในพื้นที่อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร คัดกรองภาวะโภชนาการด้วยเครื่องชั่งวิเคราะห์สัดส่วนมวลกาย และประเมินภาวะโภชนาการด้วยดัชนีมวลกาย ต่ออายุ เก็บข้อมูลระหว่างเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 ถึงกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 โดยแบบสัมภาษณ์ซึ่งประกอบด้วย การสังเกตตน การตัดสินใจลงมือกระทำ และการแสดงปฏิกิริยาต่อตนเอง วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปด้วยสถิติเชิงพรรณนา วิเคราะห์ค่าการกำกับตนด้วยสถิติเทอร์ไทล์ หาความสัมพันธ์ระหว่างการกำกับตนกับดัชนีมวลกาย โดยการวิเคราะห์พหุถดถอยโลจิสติก นำเสนอค่า adjusted odd ratio (ORadj) และช่วงความเชื่อมั่นที่ 95% (95% CI)
ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 56.5 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 68.2 กำกับตนไม่ดี ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการกำกับตนดีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ อายุ 16–18 ปี ค่าดัชนีมวลกายเกิน และการเล่นกีฬาแบบมีแบบแผนโดยกลุ่มตัวอย่างอายุ 16–18 ปี มีการกำกับตนดีเป็น 9.61 เท่า ของอายุ 13–15 ปี (p = 0.007, ORadj 9.61, 95%CI 1.84–50.10) กลุ่มมีค่าดัชนีมวลกายเกิน มีการกำกับตนดีเป็น 4.15 เท่า ของกลุ่มอ้วน (p = 0.008, ORadj 4.15, 95%CI 1.46–11.80) และกลุ่มเล่นกีฬาแบบมีแบบแผน มีการกำกับตนดีเป็น 4.05 เท่า ของกลุ่มไม่เล่นกีฬา (p = 0.013, ORadj 4.05, 95% CI 1.34–12.31) ดังนั้น ควรมีการจัดกิจกรรมในการกำกับตนให้กับนักเรียนที่มีภาวะโภชนาการเกิน โดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่นตอนต้น และควรส่งเสริมการออกกำลังกายที่มีรูปแบบและ แบบแผนชัดเจนต่อเนื่องในโรงเรียน เพื่อเพิ่มกิจกรรมทางกายให้นักเรียนให้มากขึ้น
คำสำคัญ: นักเรียน ดัชนีมวลกาย การกำกับตน การออกกำลังกายและควบคุมอาหาร