การประเมินค่าความคลาดเคลื่อนของตำแหน่งการฉายรังสีในผู้ป่วยมะเร็งศีรษะ และลำคอด้วยเทคนิคการฉายรังสีแบบปรับความเข้ม โดยใช้อุปกรณ์รับภาพอิเล็กทรอนิกส์

ผู้แต่ง

  • วิมลมาศ ทองงาม โรงพยาบาลศูนย์สกลนคร
  • สุมาลี ยับสันเทียะ โรงพยาบาลศูนย์สกลนคร

บทคัดย่อ

          ค่าความคลาดเคลื่อนจากการจัดท่าเชิงระบบและความคลาดเคลื่อนแบบสุ่มสำหรับผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอ มีความจำเพาะในแต่ละโรงพยาบาล การทราบค่าความคลาดเคลื่อนดังกล่าวมีประโยชน์ในการนำไปกำหนดขอบเขตของก้อนมะเร็งระหว่าง clinical target volume (CTV) และ planning target volume (PTV) (CTV to PTV margin) งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินค่าความคลาดเคลื่อนเชิงระบบและค่าความคลาดเคลื่อนแบบสุ่มในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอที่มารับการรักษาด้วยเทคนิคการฉายรังสีแบบปรับความเข้ม ในโรงพยาบาลสกลนคร และนำค่าดังกล่าวมาคำนวณค่า CTV to PTV margin ที่เหมาะสม โดยเก็บข้อมูลค่าความคลาดเคลื่อนจากการจัดท่าผู้ป่วยจำนวน 30 ราย แบบย้อนหลังระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 ถึงกันยายน พ.ศ. 2563 จากการรักษาผู้ป่วยด้วยเครื่องฉายรังสี Elekta Synergy Platform เปรียบเทียบค่าความคลาดเคลื่อน ระหว่างภาพถ่ายด้วยอุปกรณ์รับภาพอิเล็กทรอนิกส์ (electronic portal imaging device, EPID) ทั้งหมด 420 ภาพ กับภาพ digitally reconstructed radiographs (DRRs) และนำค่าที่ได้มาคำนวณค่าความคลาดเคลื่อนเชิงระบบและความคลาดเคลื่อนแบบสุ่ม และคำนวณหาค่า CTV to PTV margin โดยใช้สมการของ Van Herk
          ผลการศึกษาพบว่า ค่าความคลาดเคลื่อนเชิงระบบของประชากรในแนว longitudinal แนว lateral และแนว vertical เท่ากับ 0.43 0.36 และ 0.48 มิลลิเมตร ตามลำดับ ค่าความคลาดเคลื่อนแบบสุ่มของประชากรในแนว longitudinal แนว lateral และ แนว vertical เท่ากับ 1.08 1.30 และ 1.04 มิลลิเมตร ตามลำดับ และค่าCTV to PTV margin ในแนว longitudinal แนว lateral และ แนว vertical เท่ากับ 1.83 1.80 และ 1.92 มิลลิเมตร ตามลำดับ สรุปว่า ค่า CTV to PTV margin มีค่าน้อยกว่า 2.00 มิลลิเมตร ซึ่งอยู่ภายในค่าความคลาดเคลื่อนจากการจัดท่าผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอของโรงพยาบาลสกลนคร

        คำสำคัญ: ความคลาดเคลื่อนจากการจัดท่า มะเร็งศีรษะและลำคอ อุปกรณ์รับภาพอิเล็กทรอนิกส์ ค่า CTV to PTV margin

ประวัติผู้แต่ง

วิมลมาศ ทองงาม, โรงพยาบาลศูนย์สกลนคร

นักรังสีการแพทย์ชำนาญการ หน่วยรังสีรักษา กลุ่มงานรังสีวิทยา โรงพยาบาลสกลนคร

สุมาลี ยับสันเทียะ, โรงพยาบาลศูนย์สกลนคร

อาจารย์ ภาควิชารังสีเทคนิค คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2022-02-17