ผลการดำเนินงานและพัฒนาแนวทางการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลระดับจังหวัดของคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการให้มีการใช้ยาอย่างสมเหตุผล จังหวัดชัยภูมิ

ผู้แต่ง

  • กัณฐนวรรธน์ รอนณรงค์ กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิ

คำสำคัญ:

การใช้ยาอย่างสมเหตุผล , คณะกรรมการพัฒนาระบบบริการให้มีการใช้ยาอย่างสมเหตุผล, แนวทางการใช้ยาอย่างสมเหตุผล

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participation action research) มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาแนวทางการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลระดับจังหวัดของคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการให้มีการใช้ยาอย่างสมเหตุผล จังหวัดชัยภูมิและเพื่อศึกษาผลการดำเนินงานตามแนวทางการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลระดับจังหวัด กลุ่มผู้ร่วมศึกษา คือคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการให้มีการใช้ยาอย่างสมเหตุผล จังหวัดชัยภูมิ ทั้งหมด 52 คน ศึกษาระหว่างเดือนตุลาคม 2561 – ธันวาคม 2562 ดำเนินการวิจัยเชิงปฏิบัติการ 2 วงรอบ วงรอบละ 4 ขั้นตอน โดยใช้หลักการของ Kemmis และ McTaggart  (1998) ประกอบด้วย 1.การวางแผน 2.ลงมือปฏิบัติตามแผน 3.สังเกตผลที่ได้และ 4.การสะท้อนผล วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหา และสถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ความถี่และร้อยละ

ปีงบประมาณ 2562 ไตรมาสที่ 1  จังหวัดชัยภูมิมีผลการดำเนินงานโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลขั้นที่ 1 จำนวน 16 แห่ง ร้อยละ 100 ขั้นที่ 2 จำนวน 5 แห่ง  ร้อยละ 31.25 ขั้นที่ 3 จำนวน 2 แห่ง ร้อยละ 12.50 แต่ยังพบว่าโรงพยาบาลหลายแห่งยังมีการสั่งใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่สมเหตุผลในโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน บาดแผลสดจากอุบัติเหตุ หญิงคลอดปกติครบกำหนดทางช่องคลอดและมีการสั่งใช้ยา metformin และยากลุ่ม inhale corticosteroid ไม่ผ่านตามเกณฑ์เป้าหมาย จึงนำไปสู่การพัฒนาแนวทางการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ระดับจังหวัดจำนวน 10 ข้อ คือ 1.การทำแผนงานโครงการการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล 2. การมอบนโยบายจากผู้บริหารระดับสูง 3.การจัดประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการให้มีการใช้ยาสมเหตุผลอย่างน้อย 3 ครั้ง 4.การสะท้อนข้อมูลผลการดำเนินงานทุกครั้งที่มีการประชุมของคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการให้มีการใช้ยาสมเหตุผลและคณะกรรมการวัดและประเมินผลระดับจังหวัด (กวป.) 5.การทำระบบแจ้งเตือน (pop lock/pop alert) 6.การนำเสนอรายชื่อแพทย์ที่มีการสั่งใช้ยาปฏิชีวนะทั้ง 4 กลุ่ม 7.การสนับสนุนให้ใช้ยาสมุนไพรทดแทนยาปฏิชีวนะ 8.การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกผลลัพธ์การดำเนินงาน 9.การลงเยี่ยมพื้นที่เป้าหมายหรือนิเทศงานอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง 10.การสร้างสื่อประชาสัมพันธ์ให้แก่ประชาชน หลังจากการพัฒนาแนวทางการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล พบว่า จังหวัดชัยภูมิมีผลการดำเนินงานโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลขั้นที่ 1 จำนวน 16 แห่ง ร้อยละ 100 ขั้นที่ 2 จำนวน 9 แห่ง ร้อยละ 56.25  ขั้นที่ 3 จำนวน 5 แห่ง ร้อยละ 31.25

สรุปผล : แนวทางการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลระดับจังหวัด ของจังหวัดชัยภูมิมี 10 ข้อ หากปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอส่งผลให้โรงพยาบาลในจังหวัดชัยภูมิผ่านการประเมินโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลเพิ่มมากขึ้น จังหวัดอื่นๆสามารถนำไปเป็นแนวทางในการดำเนินงานหรือปรับปรุงให้เหมาะสมกับบริบทของตนเองได้

เอกสารอ้างอิง

พรพิมล จันทร์คุณาภาส, ไพรำ บุญญะฤทธิ์, วรนัดดา ศรีสุพรรณ, ไพทิพย์ เหลืองเรืองรอง, นุชน้อย ประภาโส [บรรณาธิการ]. (2559). การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ(Service Plan) สาขาพัฒนาระบบบริการให้มีการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (Service Plan:Rational Drug Use). พิมพ์ครั้งที่ 1. นนทบุรี: สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข.

จุไรวรรณ เหล็กกนก, วทัญญู ประยูรหงษ์. (2562). การติดตามและการประเมินผลการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลของคณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด โรงพยาบาลพิมาย จังหวัดนครราชสีมา. วารสารเภสัชกรรมคลินิก, 25(1):13–22.

สุมาลี ท่อชู, รุ่งทิวา หมื่นปา. (2560). ผลลัพธ์ของการดำเนินโครงการโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในอำเภอหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์. วารสารเภสัชกรรมไทย, 9(2):464–74.

ชวดล ช่วงสกุล. (2560). การปฏิบัติของบุคลากรสาธารณสุขตามนโยบายโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จังหวัดศรีสะเกษ. วารสารการแพทย์โรงพยาบาลศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรรัมย์, 33(3):275–90.

พัชรี ดวงจันทร์, สมหญิง พุ่มทอง, นิธิมา สุ่มประดิษฐ์. (2560). ผลการรณรงค์โดยใช้ทีมผู้นำการเปลี่ยนแปลงและสื่อกระแส หลักต่อแนวคิดและบรรทัดฐานทางสังคมเกี่ยวกับการใช้ยา ปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล. วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข, 11(4):481–99.

Kemmis S, McTaggart R. (1990). The action research planner. (3rd ed.). Geelong. Australia : Deakin University Press.

Rattanaumpawan P, Chuenchom N, Thamlikitkul, V. (2018). Individual feedback to reduce inappropriate antimicrobial prescriptions for treating acute upper respiratory infections in an outpatient setting of a Thai university hospital. Journal of Global Antimicrobial Resistance, 12:11–4.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2021-07-19 — อัปเดตเมื่อ 2021-08-13

เวอร์ชัน