การลดความคลาดเคลื่อนกระบวนการก่อนการจ่ายยาในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโอโล อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ

ผู้แต่ง

  • จันทร์ธิมา เพียรธรรม โรงพยาบาลภูเขียวเฉลิมพระเกียรติ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิ

คำสำคัญ:

ความคลาดเคลื่อนกระบวนการก่อนการจ่ายยา, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล, ความคลาดเคลื่อนทางยา

บทคัดย่อ

ความคลาดเคลื่อนกระบวนการก่อนการจ่ายยา (pre-dispensing error) เป็นความคลาดเคลื่อนในกระบวนการก่อนการจ่ายยา ได้แก่ การพิมพ์ฉลากยา การจัดยา เป็นต้น หากเกิดความคลาดเคลื่อนกระบวนการก่อนการจ่ายยาสูงยิ่งมีโอกาสเกิดความคลาดเคลื่อนในการจ่ายยาได้สูง หากสามารถป้องกันการเกิดความคลาดเคลื่อนทางยาได้ผู้ป่วยจะมีความปลอดภัยจากการใช้ยา และลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่เกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาที่ป้องกันได้

วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาอุบัติการณ์การเกิดความคลาดเคลื่อนกระบวนการก่อนการจ่ายยา หาแนวทางการแก้ไข ป้องกันการเกิดความคลาดเคลื่อนกระบวนการก่อนการจ่ายยาในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโอโล อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ และเปรียบเทียบความคลาดเคลื่อนกระบวนการก่อนการจ่ายยา ก่อนและหลังการแก้ไข

กลุ่มตัวอย่างและวิธีการ : เป็นการศึกษาเชิงปฏิบัติการ โดยเก็บข้อมูลไปข้างหน้า เปรียบเทียบข้อมูลก่อนและหลังการหาแนวทางการแก้ไข ป้องกันการเกิดความคลาดเคลื่อนกระบวนการก่อนการจ่ายยา จากใบสั่งยาในคลินิกโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโอโล อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ โดยเก็บข้อมูลความคลาดเคลื่อนกระบวนการก่อนการจ่ายยาช่วงเดือน กันยายน-พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 วิเคราะห์หาสาเหตุและแนวทางการแก้ไข ป้องกันการเกิดความคลาดเคลื่อนทางยา 1 เดือน (ธันวาคม พ.ศ. 2562) จากนั้นเก็บข้อมูลความคลาดเคลื่อนกระบวนการก่อนการจ่ายยาหลังการแก้ไขเดือน มกราคม-มีนาคม พ.ศ. 2563 วิเคราะห์ข้อมูลและแสดงผลในรูปค่าความถี่ และร้อยละ

ผลการศึกษา : ก่อนการแก้ไขความคลาดเคลื่อนทางยาพบอุบัติการณ์ความคลาดเคลื่อนกระบวนการก่อนการจ่ายยา 23.5 ครั้งต่อ100 ใบสั่งยา โดยพบการพิมพ์ฉลากยาคลาดเคลื่อนมากที่สุด 11.3 ครั้งต่อ 100 ใบสั่งยา รองลงมาคือ จัดยาไม่ครบรายการ 5.5 ครั้งต่อ 100 ใบสั่งยา จัดยาผิดชนิด 4.2 ครั้งต่อ 100 ใบสั่งยา จัดยาผิดจำนวน 2.1 ครั้งต่อ 100 ใบสั่งยา และจัดยาปนตะกร้า 0.4 ครั้งต่อ 100 ใบสั่งยา หลังการแก้ไขพบอุบัติการณ์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.001) เหลือ 1.8 ครั้งต่อ100 ใบสั่งยา

            สรุป : หลังการแก้ไขสามารถลดความคลาดเคลื่อนกระบวนการก่อนการจ่ายยาได้อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามในการแก้ไขปัญหาความคลาดเคลื่อนทางยาต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ควรมีการติดตามความคลาดเคลื่อนทางยาสม่ำเสมอเพื่อให้สามารถหาแนวทางแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว และในการเลือกวิธีแก้ไขควรเลือกวิธีการแก้ไขให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ เภสัชกรมีบทบาทสำคัญในการลดความคลาดเคลื่อนทางยาโดยเฉพาะในวันที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้บริการคลินิกโรคเรื้อรัง

เอกสารอ้างอิง

Garfield S, Barber N, Walley P, Willson A, Eliasson L. (2009). Quality of medication use in primary care-mapping the problem, working to a solution: a systematic review of the literature. BMC Med, 7(50):1-8.

น้องเล็ก บุญจูง, วรางคณา ควรจริต และอาภรณ์ จตุรภัทรวงศ์. (2550). การประเมินการสั่งใช้ยาในศูนย์สุขภาพชุมชน: ปัญหาเกี่ยวกับยาและความพึงพอใจผู้ใช้บริการ. วารสารเภสัชกรรมโรงพยาบาล, 17(3):210-22.

เกษศรินทร์ ขุนทอง, อัลจนา เฟื่องจันทร์. (2558). การพัฒนาระบบบริการด้านยาเพื่อลดความคลาดเคลื่อนทางยาในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ณ หน่วยบริการปฐมภูมิ อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. วารสารเภสัชศาสตร์อีสาน, 11(Suppl):82-8.

กรัณฑ์รัตน์ ทิวถนอม, ศุภลักษณ์ ธนานนท์นิวาส. (2552). ความคลาดเคลื่อนทางยาและแนวทางป้องกันเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย. Veridian E-Journal of Silpakorn University, 2(1):195-217.

สุกัญญา นำชัยทศพล. (2554). ต้นทุนที่ประหยัดได้ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและต้นทุนที่หลีกเลี่ยงได้จากการแก้ไขปัญหาความคลาดเคลื่อนทางยาในโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร. วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข, 5(3):371-80.

Abramson EL, Bates DW, Jenter C, Volk LA, Barro´n Y, Quaresimo J, et al. (2012). Ambulatory prescribing errors among community-based providers in two states. Journal of the American Medical Informatics Association, 19(4):644-648.

ศริลรัชน์ ฤกษ์ชัยศรี, พาณี สีตกะลิน, พรทิพย์ กีระพงษ์. (2559). ปัจจัยเชิงสาเหตุที่มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดความคลาดเคลื่อนทางยาในกระบวนการจัดยาผู้ป่วยนอก แผนกเภสัชกรรมชุมชนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. วารสารสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย, 6(3):225-30.

สุรีรัตน์ ลำเลา, ระพีพรรณ ฉลองสุข. (2560). การพัฒนาระบบก่อนการจ่ายยาผู้ป่วยในของโรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ กรุงเทพมหานคร. Veridian E-Journal of Science and Technology Silpakorn University, 4(3):117-37.

ปรีชา เครือรัตน์. (2561). การพัฒนาระบบการป้องกันความคลาดเคลื่อนทางยาเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย โรงพยาบาลบ้านนาสาร. วารสารวิชาการแพทย์เขต 11, 32(1):871-80.

Manias E, Williams A, Liew D. (2012). Interventions to reduce medication errors in adult intensive care: a systematic review. Br J Clin Pharmacol, 74(3):411-23.

พงษ์ศักดิ์ สมใจ, เพ็ญศิริ สุขอ้วน, สุพัณณดา สรเสนา. (2550). การเปรียบเทียบความคลาดเคลื่อนทางยาก่อนและหลังการพัฒนาระบบความปลอดภัยในการใช้ยา. วารสารเภสัชกรรมโรงพยาบาล, 17(2):100-8.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2021-07-19 — อัปเดตเมื่อ 2021-08-13

เวอร์ชัน