ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้และทัศนคติกับความพร้อมของมารดาหลังคลอด ที่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน

ผู้แต่ง

  • พรทิพย์ อนันตกุล มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี
  • จินตหรา สุมะลัด โรงพยาบาลหนองคาย
  • กรวิภา สีหาพันธ์ โรงพยาบาลหนองคาย

บทคัดย่อ

          การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความรู้และทัศนคติกับความพร้อมของมารดาหลังคลอดที่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน เครื่องมือวิจัยเป็นแบบสอบถามประกอบด้วย ชุดที่ 1 ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีค่าความเชื่อมั่น 0.82 ชุดที่ 2 ทัศนคติเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีค่าความเชื่อมั่น 0.77 และชุดที่ 3 ความพร้อมของมารดาที่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน มีค่าความเชื่อมั่น 0.75 กลุ่มตัวอย่างคือมารดาหลังคลอดขณะพักในหอผู้ป่วยสูติ–นรีเวชกรรม โรงพยาบาลหนองคาย จำนวน 330 คน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ โดยใช้ค่าสถิติ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและวิเคราะห์ความสัมพันธ์โดยสถิติสเปียร์แมน (Spearman Rank)

           ผลการวิจัย พบว่า มารดาหลังคลอดขณะพักในหอผู้ป่วยสูติ–นรีเวชกรรม โรงพยาบาลหนองคาย มีความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 81–90 มากที่สุดคือจำนวน 146 คน คิดเป็น ร้อยละ 44.2 ทัศนคติเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยรวมอยู่ในระดับมาก ( = 3.79, S.D. = 0.02) ความพร้อมของมารดาหลังคลอดที่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนโดยรวมอยู่ในระดับมาก ( = 4.21, S.D. = 0.03) และความสัมพันธ์ระหว่างความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และทัศนคติเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อความพร้อมของมารดาหลังคลอดที่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน อยู่ในระดับต่ำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01

         คำสำคัญ: การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทัศนคติเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ความพร้อมของมารดาที่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2021-10-15