ความรู้และพฤติกรรมการจัดการถุงน้ำยาล้างไต ที่เกิดจากการล้างไตที่บ้าน ของผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง หน่วยไตเทียม โรงพยาบาลสกลนคร

ผู้แต่ง

  • ธิดารัตน์ สุตะโคตร โรงพยาบาลสกลนคร

บทคัดย่อ

         การวิจัยเชิงพรรณนานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับความรู้และพฤติกรรมการจัดการถุงน้ำยาล้างไตที่บ้านของผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องที่มารับการรักษาในหน่วยไตเทียม โรงพยาบาลสกลนคร กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องที่มีระยะเวลาการล้างไตทางช่องท้อง 1 ปีขึ้นไป จำนวน 229 คน เก็บข้อมูลในเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูลคือ แบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ผ่านการตรวจสอบความตรงด้านเนื้อหาและความถูกต้องโดยผู้เชี่ยวชาญ 5 คน ค่าดัชนีความตรงเชิงเนื้อหาเท่ากับ 0.80 และทดสอบความเชื่อมั่นด้วยวิธีของคูเดอร์ริชาร์ดสัน สูตร KR – 20 ด้านความรู้การจัดการถุงน้ำยาล้างไตได้เท่ากับ 0.73 ด้านพฤติกรรมการจัดการถุงน้ำยาล้างไตได้เท่ากับ 0.75 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

         ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คือร้อยละ 94.8 มีความรู้เกี่ยวกับการจัดการถุงน้ำยาล้างไตอยู่ในระดับปานกลาง กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 79.0 มีพฤติกรรมเกี่ยวกับการจัดการถุงน้ำยาล้างไตอยู่ในระดับดี กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 55.8 มีพฤติกรรมขายถุงน้ำยาล้างไตให้กับร้านรับซื้อของเก่าและกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คือร้อยละ 96.8 มีพฤติกรรมจัดการกับถุงน้ำยาล้างไตที่ไม่ถูกต้องก่อนขายให้ร้านขายของเก่า ดังนั้นจึงควรให้ความรู้ในการจัดการถุงน้ำยาล้างไตและปรับปรุงพฤติกรรมของผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง เพื่อให้มีความรู้และพฤติกรรมการจัดการถุงน้ำยาล้างไตที่ถูกต้อง ทำให้เกิดความปลอดภัยต่อสุขภาพอนามัยของตนเอง ครอบครัว และสิ่งแวดล้อมในชุมชนต่อไป

         คำสำคัญ: ความรู้เกี่ยวกับการจัดการถุงน้ำยาล้างไต พฤติกรรมการจัดการถุงน้ำยาล้างไต การล้างไตทางช่องท้อง

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2024-02-14