การพัฒนาแนวปฏิบัติทางการพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีระยะวิกฤตหลังผ่าตัดตับ หอผู้ป่วยหนักศัลยกรรม โรงพยาบาลสกลนคร

ผู้แต่ง

  • สุรวิมล ไชยรบ โรงพยาบาลสกลนคร
  • กนกพร กุลวงษ์

บทคัดย่อ

          การศึกษาเชิงพัฒนานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาแนวทางปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีระยะวิกฤตหลังผ่าตัดตับ หอผู้ป่วยหนักศัลยกรรม โรงพยาบาลสกลนคร 2) ศึกษาระดับความเป็นไปได้ในการนำใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลฯ และ 3) ประเมินระดับความพึงพอใจของพยาบาลผู้ใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลฯ โดยใช้กระบวนการพัฒนาที่ประยุกต์รูปแบบการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ของซูคัพ ประกอบด้วย 4 ระยะ ได้แก่ 1) การค้นหาปัญหาทางคลินิก 2) การค้นหาหลักฐานเชิงประจักษ์ 3) การพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลและนำไปทดลองใช้ และ 4) การนำแนวปฏิบัติการพยาบาลไปใช้จริง ซึ่งการศึกษานี้ดำเนินการอย่างสมบูรณ์ถึงระยะที่ 3 โดยมีการสืบค้นงานวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 12 เรื่อง สกัดข้อความรู้เป็นแนวปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีระยะวิกฤตหลังผ่าตัดตับ 9 ด้าน ภายใต้กรอบแนวคิดการประเมินผู้ป่วยวิกฤตของ FANCAS และ FASTHUG และBANDAIDS แล้วนำไปตรวจสอบคุณภาพได้ค่าความตรงเชิงเนื้อหา 0.85 และค่าความเที่ยงด้วยวิธีสัมประสิทธิ์แอลฟ่าของครอนบาค 0.80 จากนั้นนำร่างแนวปฏิบัติการพยาบาลฯ ไปศึกษาความเป็นไปได้ในการนำใช้กับพยาบาลวิชาชีพหอผู้ป่วยหนักศัลยกรรมที่มีอายุงานตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป จำนวน 14 คน ระหว่างเดือนกันยายน–ตุลาคม พ.ศ. 2562 ผลการศึกษาพบว่า ความเป็นไปได้ในการนำใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีระยะวิกฤตหลังผ่าตัดตับอยู่ในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย 4.78, S.D. = 0.02) และความพึงพอใจต่อการนำใช้แนวปฏิบัตินี้อยู่ใน ระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย 4.61, S.D. = 0.02)

         สรุป แนวปฏิบัติทางการพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีระยะวิกฤตหลังผ่าตัดตับ หอผู้ป่วยหนักศัลยกรรม โรงพยาบาลสกลนคร ที่พัฒนาขึ้นสามารถนำไปปฏิบัติและพัฒนาอย่างต่อเนื่องได้
           คำสำคัญ: มะเร็งท่อน้ำดี การพัฒนาแนวปฏิบัติทางการพยาบาล การพยาบาลผู้ป่วยภาวะวิกฤต

ประวัติผู้แต่ง

สุรวิมล ไชยรบ, โรงพยาบาลสกลนคร

พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ หอผู้ป่วยวิกฤตศัลยกรรม กลุ่มงานการพยาบาล โรงพยาบาลสกลนคร

กนกพร กุลวงษ์

พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ หอผู้ป่วยวิกฤตศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลสกลนคร

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2024-02-14