การพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยผ่าตัดเต้านมแบบดั้งเดิมประยุกต์
บทคัดย่อ
การศึกษาเชิงการวิจัยและพัฒนานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสถานการณ์การพยาบาลผู้ป่วยผ่าตัดเต้านมแบบดั้งเดิมประยุกต์ 2) สร้างและพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยผ่าตัดเต้านมแบบดั้งเดิมประยุกต์ 3) ศึกษาผลลัพธ์หลังจากนำแนวปฏิบัติมาใช้จริง ดำเนินการวิจัยวันที่ 1 สิงหาคม – 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาผลลัพธ์จากการใช้แนวปฏิบัติได้แก่ 1)ผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดเต้านมแบบดั้งเดิมประยุกต์ จำนวน 30 คน 2) พยาบาลห้องผ่าตัด จำนวน 26 คน และ 3) พยาบาลวิชาชีพประจำหอผู้ป่วย จำนวน 26 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ 1) แนวปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยผ่าตัดเต้านมแบบดั้งเดิมประยุกต์ 2) แบบประเมินความพึงพอใจต่อแนวปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยผ่าตัดมะเร็งเต้านมแบบดั้งเดิมประยุกต์ และ 3) แบบประเมินคุณภาพแนวปฏิบัติทางคลินิก วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า พยาบาลห้องผ่าตัดมีความพึงพอใจโดยรวมต่อแนวปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยผ่าตัดเต้านมแบบดั้งเดิมประยุกต์อยู่ในระดับมาก ( X ̅ = 4.36, SD = 0.26) พยาบาลประจำหอผู้ป่วยมีความพึงพอใจโดยรวมต่อแนวปฏิบัติฯ ในระดับมากที่สุด (X ̅ = 4.51, S.D. = 0.54) ผู้ป่วยผ่าตัดมีความพึงพอใจโดยรวมในระดับมาก ( X ̅ = 4.46, S.D. = 0.58) และพบว่า หลังทดลองใช้แนวปฏิบัติ หลังการผ่าตัดไม่พบผู้ป่วยมีภาวะไหล่ติดและไม่พบการติดเชื้อที่แผลผ่าตัด และการประเมินคุณภาพแนวปฏิบัติทางคลินิกโดยรวมมีคะแนนความคิดเห็น
ร้อยละ 98
แนวปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยผ่าตัดเต้านมแบบดั้งเดิมประยุกต์ที่พัฒนาขึ้นควรมีการนำไปประยุกต์ใช้สำหรับการผ่าตัดมะเร็งเต้านมแบบการผ่าตัดแบบสงวนเต้านม การผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ และการผ่าตัดเต้านมแบบดั้งเดิมต่อไป
คำสำคัญ: แนวปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยผ่าตัดเต้านมแบบดั้งเดิมประยุกต์ พยาบาลห้องผ่าตัด