ความเครียดและการเผชิญความเครียดในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ชุมชนแห่งหนึ่งในจังหวัดร้อยเอ็ด
บทคัดย่อ
การศึกษาภาคตัดขวางครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเครียดและการเผชิญความเครียดและความ สัมพันธ์ของความเครียดกับการเผชิญความเครียดของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ชุมชนบ้านท่าม่วง ตำบลท่าม่วง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 52 คน โดยการสุ่มตัวอย่างอย่างง่าย เก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ ถึง 13 มีนาคม พ.ศ. 2563 เครื่องมือวิจัย ได้แก่ แบบวัดความเครียดกรมสุขภาพจิต (SPST–20) และแบบวัดการเผชิญความเครียดของจาโลวิค (Jalowiec coping scale: JCS) ซึ่งหาความเที่ยงด้วยวิธีสัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบาคได้ค่าความเที่ยงทั้งฉบับเท่ากับ 0.86 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ด้วยการหาสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน
ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 63.50 อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 76.90 จบการศึกษาระดับประถมศึกษาร้อยละ 90.40 รายได้ไม่เพียงพอร้อยละ 73.10 มีหนี้สินร้อยละ 63.50 มีระยะเวลาป่วยมากกว่า 10 ปีขึ้นไป ร้อยละ 34.60 สามารถควบคุมโรคเรื้อรังได้ร้อยละ 98.10 และมีลักษณนิสัยอารมณ์ดีและใจเย็น ร้อยละ 84.62 ผู้ป่วยมีความเครียดระดับปานกลางมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 78.84 ใช้การเผชิญความเครียดด้านการจัดการปัญหาทางอ้อมมากที่สุด (คะแนนสัมพัทธ์เฉลี่ย = 0.40, S.D. = 0.46) และความเครียดกับการเผชิญความเครียดโดยรวมมีความสัมพันธ์กันในเชิงเส้นตรงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = 0.573, p < 0.001)
คำสำคัญ: ความเครียด การเผชิญความเครียด ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง