การพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลทางคลินิก สำหรับผู้ป่วยเด็กโรคหืด โรงพยาบาลสกลนคร

ผู้แต่ง

  • วันเพ็ญ ทิพม่อม โรงพยาบาลสกลนคร

บทคัดย่อ

              การวิจัยเชิงพัฒนาเพื่อพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลทางคลินิกสำหรับผู้ป่วยเด็กโรคหืด ในโรงพยาบาลสกลนคร ระหว่าง เดือนเมษายน ถึง กันยายน พ.ศ. 2563 ขั้นตอนการพัฒนาแนวปฏิบัติประยุกต์จากแนวคิดแนวปฏิบัติทางคลินิกของสภาวิจัยด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งชาติประเทศออสเตรเลีย ศึกษาโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์จากการสืบค้นข้อมูลทางการแพทย์และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง จำนวน 4 เรื่อง ตรวจสอบความถูกต้องของแนวปฏิบัติทางคลินิกที่พัฒนาขึ้นโดยผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 4 คน ประเมินคุณภาพของแนวปฏิบัติโดยใช้เครื่องมือ AGREE II กลุ่มตัวอย่างการศึกษา แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ ผู้ป่วยเด็กโรคหืดอายุ 1–15 ปี ที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยเด็ก โรงพยาบาลสกลนคร จำนวน 23 คน และพยาบาลผู้ใช้แนวปฏิบัติ จำนวน 16 คน เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วยเด็กและพยาบาล แบบประเมินความเป็นไปได้ของแนวปฏิบัติและแบบสังเกตการปฏิบัติตามแนวปฏิบัติและแบบประเมินภาวะหายใจล้มเหลว โดยผ่านการตรวจสอบจากผู้ทรงคุณวุฒิ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา

         ผลการศึกษาพบว่า แนวปฏิบัติที่พัฒนาขึ้นมีองค์ประกอบ 4 ด้าน ดังนี้ 1) การประเมินความรุนแรงของ โรคหืด 2) การพยาบาลผู้ป่วยเมื่อมีการให้ออกซิเจน 3) การบริหารยาโดยการพ่นแบบฝอยละออง และ 4) การวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยเด็กโรคหืด โดยมีความเป็นไปได้ในการนำแนวปฏิบัติไปใช้ ร้อยละ 93.7 การปฏิบัติตามแนวปฏิบัติร้อยละ 92.6 และลดอัตราการเกิดภาวะหายใจล้มเหลวจากหืดกำเริบจาก ร้อยละ 19.6 เป็น ร้อยละ 4.3

         จากการศึกษา ควรมีการนำแนวปฏิบัติการพยาบาลทางคลินิกนี้ไปใช้ในการดูแลผู้ป่วยเด็กโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ เพื่อการพัฒนาคุณภาพบริการพยาบาลต่อไป

         คำสำคัญ: แนวปฏิบัติการพยาบาลทางคลินิก เด็กโรคหืด

ประวัติผู้แต่ง

วันเพ็ญ ทิพม่อม, โรงพยาบาลสกลนคร

พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ กลุ่มงานการพยาบาลผู้ป่วยกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลสกลนคร

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2021-10-27