โรคหนอนพยาธิพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร จังหวัดชลบุรี
บทคัดย่อ
โครงการอ่างเก็บน้ำเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำของกรมชลประทานที่ต้องศึกษาประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน เนื่องจากพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น ความอุดมสมบูรณ์ของอาหารก็มากขึ้นตามไปด้วย ประชาชน สัตว์รังโรค และโฮสต์กึ่งกลางของหนอนพยาธิชนิดต่างๆ มีการอพยพเข้ามาอยู่อาศัยจำนวนมากขึ้น ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคหนอนพยาธิ การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์โรคหนอนพยาธิในประชาชน สัตว์รังโรค และโฮสต์กึ่งกลางในธรรมชาติ โดยการศึกษาด้วยวิธีสำรวจกำหนดจุดพิกัดเก็บตัวอย่างในพื้นที่ผลกระทบ และพื้นที่รับประโยชน์ สุ่มเก็บตัวอย่างอุจจาระประชาชน จำนวน 359 ตัวอย่าง ตรวจหาไข่และตัวอ่อนหนอนพยาธิด้วยวิธี Formalin–ether concentration ในมูลสัตว์รังโรคตรวจด้วยวิธี Formalin–ether concentration ร่วมกับวิธี Floating and sedimentation ตรวจหาตัวอ่อนพยาธิใบไม้ในโฮสต์กึ่งกลางจากธรรมชาติคือ หอยน้ำจืด ด้วยวิธี Shedding และ Crushing ส่วนปลาน้ำจืดเกล็ดขาว ตรวจด้วยวิธี Digestion
ผลการศึกษาพบว่า อัตราการพบโรคหนอนพยาธิในกลุ่มตัวอย่างประชาชนร้อยละ 6.4 โปรโตซัวในลำไส้ร้อยละ 3.1 สัตว์รังโรคคือ สุนัข แมว โค และกระบือ มีอัตราการพบโรคหนอนพยาธิที่สามารถก่อโรคในคนร้อยละ22.3, 17.7, 21.0 และ 37.5 ตามลำดับ ตรวจพบตัวอ่อนพยาธิใบไม้ในหอยน้ำจืดร้อยละ 2.69 และพบตัวอ่อนพยาธิใบไม้ลำไส้ขนาดเล็กระยะติดต่อในปลาน้ำจืดเกล็ดขาวร้อยละ 7.08 จากการศึกษานี้ตรวจพบไข่พยาธิใบไม้ตับของคน (Opisthorchis viverrini) ในอุจจาระประชาชน และตัวอ่อนพยาธิใบไม้ตับของคนระยะติดต่อในปลาน้ำจืดเกล็ดขาว ซึ่งเป็นพยาธิที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการก่อโรคมะเร็งท่อน้ำดีในคนไทยปัจจุบัน
คำสำคัญ: อ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร โรคหนอนพยาธิ สัตว์รังโรค โฮสต์กึ่งกลาง