ประสิทธิผลของการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง วิธีการลดปวดในระยะรอคลอด
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง วิธีการลดปวดในระยะ รอคลอด ของนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 3 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครศรีธรรมราช ที่ฝึกวิชาปฏิบัติการพยาบาลมารดา ทารกและการผดุงครรภ์ 1 คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยการสุ่มอย่างง่าย ได้จำนวน 25 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง คือ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง วิธีการลดปวดในระยะรอคลอด และ 2) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมินทักษะปฏิบัติการสอนลดปวดในระยะรอคลอดและแบบประเมินความพึงพอใจต่อการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ของนักศึกษาเครื่องมือวิจัยผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ได้ค่าเท่ากับ 0.89 และหาค่าความเที่ยงโดยวิธีสัมประสิทธิแอลฟาของครอนบาคสำหรับแบบประเมินทักษะปฏิบัติวิธีการลดปวดในระยะรอคลอดและแบบประเมินความพึงพอใจต่อการใช้สื่อได้เท่ากับ 0.84 และ 0.81 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และสถิติ repeated–measures ANOVA
ผลการศึกษาพบว่า คะแนนเฉลี่ยทักษะปฏิบัติการสอนลดปวดในระยะรอคลอดของนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ก่อนการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์เท่ากับ 8.24 (S.D. = 0.32) หลังการใช้สื่อครั้งที่ 1 เท่ากับ 18.84 (S.D. = 0.44) และหลังการใช้สื่อซ้ำครั้งที่ 2 เท่ากับ 26.64 (S.D. = 0.32) ซึ่งแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติอย่างน้อย 1 คู่ (F = 731.09, df = 1.35, p < 0.01) และคะแนนรวมเฉลี่ยความพึงพอใจต่อการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ของนักศึกษาอยู่ในระดับดีมาก (X ̅ = 3.84, S.D. = 0.32)
คำสำคัญ: ประสิทธิผล สื่ออิเล็กทรอนิกส์ วิธีการลดปวดในระยะรอคลอด