ความคิดอัตโนมัติด้านลบและความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายของผู้ป่วยจิตเวช
บทคัดย่อ
การวิจัยเชิงพรรณนานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความคิดอัตโนมัติด้านลบและความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายของผู้ป่วยจิตเวช กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยจิตเวชเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วย โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ระหว่างเดือนมีนาคม–มิถุนายน พ.ศ. 2562 เลือกกลุ่มตัวอย่างตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้จำนวน 60 ราย โดยการคัดเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล คือแบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมินความคิดอัตโนมัติด้านลบ (negative automatic thought, NAT) และแบบประเมินระดับความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย (mini international neuropsychiatric interview, M.I.N.I.) วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาและสถิติสัมประสิทธิสหสัมพันธ์ลำดับที่ของสเปียร์แมน
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ร้อยละ 75.0 อายุเฉลี่ย 37–65 ปี (S.D. = 7.94) สถานภาพโสด ร้อยละ 53.3 การศึกษาระดับประถมศึกษา ร้อยละ 48.3 มีอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 60.0 ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคจิตและจิตเภท ร้อยละ 60.0 ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคจิตและจิตเภท ร้อยละ 41.7 โรคซึมเศร้า ร้อยละ 38.3 ความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในระดับปานกลาง ร้อยละ 33.3 และระดับสูง ร้อยละ 66.7 ความคิดอัตโนมัติด้านลบมีความสัมพันธ์ทางบวกระดับปานกลางกับความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายระดับปานกลางและสูงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 (r = 0.627, p < 0.01)
จากผลการศึกษานี้ ควรมีการออกแบบการบำบัดที่มีความจำเพาะกับลักษณะความคิดอัตโนมัติด้านลบของผู้ป่วยแต่ละคนที่นำไปสู่ความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย
คำสำคัญ: ความคิดอัตโนมัติด้านลบ ความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ผู้ป่วยจิตเวช