ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อพัฒนาการของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จังหวัดพัทลุง
คำสำคัญ:
พัฒนาการเด็ก, พัฒนาการสงสัยล่าช้า, พัฒนาการล่าช้า, เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีบทคัดย่อ
การศึกษาการติดตามชนิดย้อนหลังครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อพัฒนาการเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในจังหวัดพัทลุง ประชากรที่ทำการศึกษาคือ เด็กที่คลอดระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม พ.ศ. 2553 และได้รับการติดตามและบันทึกข้อมูลพัฒนาการโดยบุคลากรสาธารณสุขจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 จำนวน 1,182 คน ตัวแปรตาม คือ ระดับพัฒนาการโดยพิจารณาจาก (1) พัฒนาการปกติ (2) พัฒนาการสงสัยล่าช้า และ (3) พัฒนาการล่าช้า วิเคราะห์ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อพัฒนาการเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ด้วยสถิติถดถอยโลจิสติกพหุตัวแปร ผลการศึกษาพบว่า ผลการตรวจฮีมาโตคริต ผลการตรวจธาลัสซีเมีย และสถานภาพการสมรสของมารดามีความสัมพันธ์ต่อพัฒนาการของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมารดาที่มีผลการตรวจฮีมาโตคริตผิดปกติมีโอกาสที่เด็กจะมีพัฒนาการสมวัยมากกว่า เมื่อเทียบกับมารดาที่มีผลการตรวจฮีมาโตคริตปกติ (OR = 0.43, 95% CI: 0.21 ถึง 0.89) ส่วนมารดาที่มีผลการตรวจธาลัสซีเมียผิดปกติมีความเสี่ยงที่เด็กจะมีพัฒนาการล่าช้าประมาณ 6 เท่า เมื่อเทียบกับมารดาที่มีผลการตรวจธาลัสซีเมียปกติ (OR = 5.60, 95% CI: 2.32 ถึง 13.52) และมารดาที่มีสถานภาพโสด/ม่าย/หย่า/แยก มีโอกาสที่เด็กจะมีพัฒนาการสมวัยมากกว่า เมื่อเทียบกับมารดาที่สถานภาพคู่ (OR = 0.29, 95% CI: 0.14 ถึง 0.60) จากผลการศึกษาดังกล่าว บุคลากรสาธารณสุขควรให้ความสำคัญในกระบวนการตรวจทางห้องปฏิบัติการโดยเฉพาะการตรวจธาลัสซีเมียและการตรวจฮีมาโตคริต เพื่อวางแผนในการแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นได้อย่างทันท่วงที และมีคุณภาพในการให้บริการงานอนามัยแม่และเด็กสูงสุด ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดปัญหาการมีพัฒนาการล่าช้าและการเรียนรู้ในเด็กวัยเรียน ต่อไป
Downloads
ดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
วิธีการอ้างอิง
ฉบับ
บท
การอนุญาต
ลิขสิทธิ์ (c) 2020 Journal of Health Science - วารสารวิชาการสาธารณสุข
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.